เขตปกครองคณะสงฆ์
*******************

             การปกครองคณะสงฆ์ ยึดพระธรรมวินัยเป็นหลักสูงสุด มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เป็นกฏหมายส่งเสริมให้การปฏิบัติตามพระธรรมวินัยมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น และกฏมหาเถรสมาคม ระเบียบ คำสั่ง เป็นแนวปฏิบัติในการบริหารการคณะสงฆ์
             กฎหมายที่ให้อำนาจจัดระบบการปกครองคณะสงฆ์นั้น ได้กำหนดให้ถือว่าผู้ปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาโดยชัดแจ้ง พระสังฆาธิการทุกรูป จึงต้องมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานเหมือนข้าราชการของแผ่นดินอีกส่วนหนึ่งด้วย และ การปฏิบัติหน้าที่ของพระสังฆาธิการทุกระดับ ต้องเป็นไปโดยถูกต้องตามหลักนิติธรรม ต้องยึดความถูกต้อง สะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม เป็นหลักการ จะเป็นเช่นนั้นได้ ต้องอาศัยความรู้ความฉลาดและความสามารถเป็นเครื่องมือ
             การปกครองคณะสงฆ์ตามรูปแบบที่จัดอยู่ในปัจจุบัน ยึดพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นหลักจัดรูปแบบการปกครอง และการปกครองคณะสงฆ์นั้น มี ๒ ส่วน คือ
        
     ๑) การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง
        
     ๒) การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค
เขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง
             การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง ได้แก่ การดำเนินกิจการคณะสงฆ์และการพระศาสนาในส่วนกลาง กล่าวคือศูนย์กลางบริหารงานนั้น เป็นหน่วยควบคุมนโยบายหลักของมหาเถรสมาคม ซึ่งการคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ เรียกว่า "การ" คือ การรักษาความเรียบร้อยดีงาม (การปกครอง) เป็นต้น บางการแยกหน่วยงานในส่วนกลางออกเป็นหน่วย บางการมีผู้สนองงานโดยรูปบุคคล บางการมีผู้สนองงานโดยรูปการคณะกรรมการ ลักษณะนี้ คืองานในส่วนกลาง มิใช่หมายถึง กรุงเทพมหานคร เป็นส่วนกลาง แท้จริงกรุงเทพมหานคร เป็นการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคชั้นจังหวัด
อนึ่ง เมื่อว่าเฉพาะการปกครองและเขตปกครองแล้ว เขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง หมายถึง หน และ คณะ แยกตามส่วนแห่งนิกายสงฆ์ คือ
             (๑) คณะมหานิกาย มี ๔ หน คือ หนกลาง หนเหนือ หนตะวันออก และหนใต้ มีเจ้าคณะใหญ่เป็นผู้ปกครอง
        
     (๒) คณะธรรมยุต มี ๑ คณะ เพราะรวมทั้งหมดเข้าเป็นคณะเดียว มีเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตเป็นผู้ปกครอง
การกำหนดเขตปกครองเป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม ส่วนการแต่งตั้งเจ้าคณะในส่วนกลางและผู้สนองงานอื่น ๆ ในส่วนกลาง ขอยกไว้
เขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค
             คณะสงฆ์ ซึ่งหมายถึง บรรดาพระสงฆ์ผู้สืบศาสนทายาทลัทธิเถรวาทในประเทศไทย ได้แก่ พระสงฆ์ ๒ คณะ คือ คณะมหานิกาย ๑ คณะธรรมยุต ๑ พระสงฆ์ทั้ง ๒ คณะนี้ จัดการปกครองตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ กล่าวคืออาศัยพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับที่กล่าวนี้ เป็นหลักจัดระบบการปกครองอาณาจักรของพระสงฆ์ เป็นอาณาจักรพิเศษ ซึ่งอาศัยอยู่ในราชอาณาจักร โดยมีนามบัญญัติว่า "คณะสงฆ์" หรือเรียกอีกโวหารหนึ่งว่า "พุทธจักร" มีหลักการปกครองชั้นอุดมการณ์นั้นคือ "พระธรรมวินัย" หรือจะเรียกว่ามีพระธรรมวินัยเป็นธรรมนูญการปกครองก็ถูก แต่การจะทำให้การปกครองบรรลุตามอุดมการณ์ได้ดีนั้น ต้องอาศัยพระบรมราชูปถัมภ์เป็นเครื่องดำเนินการ อันได้แก่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ดังเรียนแล้ว เป็นหลักกำหนดหลักเกณฑ์ขอบเขตแห่งเขตปกครอง ขอบเขตแห่งอำนาจ ขอบเขตแห่งผู้ใช้อำนาจ และวิธีการใช้อำนาจ เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์มีระบบเป็นแบบแผน ในมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้กำหนดเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคตามลำดับ เป็น ๔ ชั้น คือ
             (๑) ภาค              (๒) จังหวัด
        
     (๓) อำเภอ            (๔) ตำบล
             และในมาตรา ๒๒ วรรค ๒ ให้กำหนดจำนวนและเขตปกครองทั้ง ๔ ชั้น เป็นกฎมหาเถรสมาคม กล่าวคือให้ตรากฎมหาเถรสมาคมกำหนดไว้ เจ้าคณะชั้นใด จะกำหนดเอาตามใจชอบมิได้ ดังนั้น มหาเถรสมาคมจึงตรากฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๑๔ ขึ้นเป็นหลักเกณฑ์ และในกฎมหาเถรสมาคมดังกล่าวได้กำหนดให้วางระเบียบมหาเถรสมาคม กำหนดวิธีการปฏิบัติไว้อีกชั้นหนึ่ง
เขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นภาค
***********
             ภาค เป็นเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคชั้นสูงสุด เป็นเขตปกครองซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง คล้ายกับเขตปกครองมณฑล ในสมัยใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ (พระราชบัญญัติ ร.ศ.๑๒๑) หรือเขตตรวจการภาค ในสมัยใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ การกำหนดเขตภาค กำหนดโดยกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ.๒๕๓๕) อย่างอิสระ โดยรวมพื้นที่ไม่ต่ำว่า ๓ จังหวัดเข้าเป็นเขตปกครองภาคหนึ่ง ตามความในกฎมหาเถรสมาคม มี ๑๘ ภาค แต่ในทางปฏิบัติ มี ๒๖ ภาค คือ
คณะมหานิกาย มี ๑๘ ภาค คือ ภาค ๑ - ๑๘ ตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๔
คณะธรรมยุต มี ๘ ภาค คือ ภาค ๑,๒,๓ และ ๑๓ รวมเป็นหนึ่งภาค, ภาค ๔,๕,๖ และ ๗ รวมเป็นหนึ่งภาค ภาค ๘, ภาค ๙, ภาค ๑๐, ภาค ๑๑, (เป็น ๔ ภาค) ภาค ๑๔ และ ๑๕ รวมเป็นหนึ่งภาค ภาค ๑๖, ๑๗ และ ๑๘ รวมเป็นหนึ่งภาค และการรวมภาคหลายภาคเข้าเป็นหนึ่งภาคนั้น เป็นไปตามมติมหาเถรสมาคม
ภาค เป็นเขตปกครองที่ทำการปกครองคณะสงฆ์ระดับจังหวัดลงไปจนถึงส่วนวัด และเป็นเขตที่ประสานงานกับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
เขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นจังหวัด
******************
             จังหวัด เป็นเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคชั้นที่ ๒ ซึ่งเป็นเขตปกครองพื้นที่จำกัดเฉพาะจังหวัด ซึ่งจังหวัดนั้นหมายถึง กรุงเทพมหานคร และจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร โดยพื้นที่ทั้งราชอาณาจักรมี ๗๖ จังหวัด รวมกรุงเทพมหานครอยู่ในจำนวนนี้ด้วย ตามความในข้อ ๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ.๒๕๓๕) ว่าด้วยจำนวนและเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค กำหนดไว้ชัดเจนว่า จำนวนและเขตปกครองจังหวัด ให้อนุโลมตามจำนวนและเขตบริหารราชการแห่งราชอาณาจักร แต่ในทางปฏิบัติมี ๑๒๖ จังหวัด คือ
คณะมหานิกาย มี ๗๖ จังหวัด ครบตามจำนวนจังหวัดแห่งราชอาณาจักร
คณะธรรมยุต มี ๕๐ จังหวัด บางจังหวัดอนุโลมตามเขตบริหารราชการแห่งราชอาณาจักร บางจังหวัดต้องรวมหลายจังหวัดเข้าเป็นหนึ่งจังหวัด การรวมหลายจังหวัดเข้าเป็นหนึ่งจังหวัดนั้น เป็นไปตามมติมหาเถรสมาคม
             อนึ่ง จังหวัดทางคณะสงฆ์นั้น แม้มิได้กำหนดชัดเจน ก็พอเทียบได้ว่าจะต้องมีวัดในเขตจังหวัดนั้น พอจะเป็นตำบลทางคณะสงฆ์และอำเภอทางคณะสงฆ์ได้ จึงจะกำหนดเป็นจังหวัดได้ หากมีจำนวนวัดต่ำกว่าเกณฑ์ที่จะเป็นตำบลและอำเภอทางคณะสงฆ์ได้ ก็จัดเป็นจังหวัดทางคณะสงฆ์ไม่ได้ เพราะขาดระบบการบังคับบัญชา
เขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นอำเภอ
***************
             อำเภอ เป็นเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคชั้นที่ ๓ ซึ่งหมายถึงเขตในกรุงเทพมหานครและอำเภอในจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร จำนวนและเขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นอำเภอนั้น คณะสงฆ์ต้องเป็นผู้กำหนด แม้ทางราชอาณาจักรมีพระราชกฤษฎีกายกกิ่งอำเภอขึ้นเป็นอำเภอแล้ว อำเภอนั้นเป็นอำเภอทางราชอาณาจักรเท่านั้น หาเป็นอำเภอทางคณะสงฆ์ไม่ ตามความในข้อ ๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ.๒๕๓๕) และในระเบียบมหาเถรสมาคม กำหนดจำนวนและเขตการปกครองอำเภอ พ.ศ.๒๕๓๗ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการได้ ๒ ได้แก่
             ๑) กำหนดโดยอนุโลมตามเขตบริหารราชการแห่งราชอาณาจักร
        
     ๒) กำหนดเป็นกรณีพิเศษ
             กำหนดโดยอนุโลมตามเขตบริหารราชการแห่งราชอาณาจักรนั้น ให้อนุโลมได้เฉพาะอำเภอที่มีวัดซึ่งถูกต้องตามกฎหมาย ๕ วัดขึ้นไป เพราะอำเภอที่มีวัด ๕ วัดขึ้นไป เป็นอำเภอที่มีเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลได้ อำเภอที่มีวัดต่ำกว่า ๕ วัด จะมีเขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นตำบลมิได้ เมื่อทั้งอำเภอไม่มีเขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นตำบล จะกำหนดเป็นเขตปกครองชั้นอำเภอมิได้ คือจะยกขึ้นเป็นอำเภอทางคณะสงฆ์มิได้เลย
             การกำหนดเป็นกรณีพิเศษนั้น ได้แก่ การกำหนดเขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นอำเภอที่ไม่ต้องอนุโลมตามเขตบริหารราชการแห่งราชอาณาจักร ตามระเบียบมหาเถรสมาคมกำหนดไว้ ๒ ลักษณะ ได้แก่
        
     (๑) อำเภอที่มีวัดต่ำกว่า ๕ วัด
        
     (๒) อำเภอที่มีวัดต่ำกว่า ๑๐ วัด
อำเภอที่มีวัดต่ำกว่า ๕ วัดนั้น ไม่สามารถจะกำหนเขตเป็นอำเภอโดยอนุโลมได้ แต่จำเป็นต้องปกครอง จึงบังคับให้รวมกับอำเภออื่น
             อำเภอที่มีวัดต่ำกว่า ๑๐ วัด คือมีวัดเกินกว่า ๕ วัด แต่ไม่ถึง ๑๐ วัด และประกอบด้วยหลัก ๒ ประการ ได้แก่
                     
     ๑. เป็นการเหมาะสม ๑
        
                  ๒. สะดวกในทางปกครอง
             ให้รวมขึ้นในปกครองของเจ้าอำเภออื่นซึ่งมีเขตติดต่อกัน ในจังหวัดเดียวกันได้
การรวมทั้ง ๒ ลักษณะนี้ มีข้อบังคับไว้ ดังนี้
             (๑) ถ้ารวมกันเข้าเพียง ๒ อำเภอ ให้คงชื่อไว้ทั้ง ๒ อำเภอ
             
(๒) ถ้ารวมเกินกว่านั้น ให้คงชื่อไว้อำเภอเดียว
             วิธีดำเนินการกำหนดเขตปกครองอำเภอนั้น มี ๒ ได้แก่
                          ๑.ในกรณีกำหนดโดยอนุโลม
                          ๒. ในกรณีกำหนดเป็นกรณีพิเศษ
             
ในกรณีกำหนดโดยอนุโลมพอสรุปตามที่เคยปฏิบัติได้ดังนี้
             (๑) ให้เจ้าคณะจังหวัดเสนอเจ้าคณะภาคเพื่อมหาเถรสมาคมประกาศกำหนดเขตโดยอนุโลม
             (๒) เมื่อลงประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์แล้ว ให้ถือเป็นเขตปกครองอำเภอทางคณะสงฆ์
ในกรณีกำหนดเป็นกรณีพิเศษ พอสรุปได้ดังนี้
             (๑) ให้เจ้าคณะจังหวัดเสนอเจ้าคณะภาคเพื่อประกาศกำหนดเป็นกรณีพิเศษโดยอนุมัติของมหาเถรสมาคม
             
(๒) เมื่อได้ลงประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์แล้ว ให้ถือเป็นเขตปกครองอำเภอทางคณะสงฆ์
แบบกำหนดเขตปกครองเป็นกรณีพิเศษ

ประกาศคณะสงฆ์ภาค…………………..
เรื่อง กำหนดเขตปกครองอำเภอในจังหวัด…………..เป็นกรณีพิเศษ
พ.ศ.๒๕………
**************
             อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔ แห่งระเบียบมหาเถรสมาคม กำหนดจำนวนและเขตปกครองอำเภอ พ.ศ.๒๕๓๗ โดยอนุมัติของมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค…… จึงประกาศกำหนดเขตปกครองอำเภอในจังหวัด……………เป็นกรณีพิเศษ ดังต่อไปนี้
             ข้อ ๑ ให้วัดทั้งหลายในเขตอำเภอ………………..กับ อำเภอ…………………..จังหวัด………………..รวมอยู่ในเขตปกครองอำเภอเดียวกัน ซึ่งเรียกว่า "อำเภอ…………. และอำเภอ…………………."
        
     ข้อ ๒ ให้วัดทั้งหลายในอำเภอ……………… กับ อำเภอ……………… และอำเภอ……………….จังหวัด……………………รวมอยู่ในเขตปกครองอำเภอเดียวกันเรียกชื่อว่า "อำเภอ………………."
             ประกาศ ณ วันที่………เดือน………………………พ.ศ………
(พระ………………………..)
เจ้าคณะภาค…………….
คำแนะนำเพิ่มเติม
        
     ๑) ข้อ ๑ ใช้ในกรณีรวมเพียง ๒ อำเภอ
        
     ๒) ข้อ ๒ ใช้ในกรณีรวม ๓ อำเภอขึ้นไป
        
     ๓) ข้อความใดไม่ต้องการให้ตัดออก คงไว้เฉพาะที่ต้องการ
เขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นตำบล
             ตำบล เป็นเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคชั้นที่ ๔ ซึ่งหมายถึงแขวงในกรุงเทพมหานคร และตำบลในจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร จำนวนและเขตปกครองตำบลนั้น คณะสงฆ์เป็นผู้กำหนด แม้ทางราชอาณาจักรจะมีประกาศกระทรวงมหาดไทยตั้งตำบลแล้วก็ตาม ตำบลนั้นเป็นตำบลทางราชอาณาจักรเท่านั้น หาเป็นตำบลทางคณะสงฆ์ไม่ ตามความในข้อ ๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ.๒๕๓๕) และในระเบียบมหาเถรสมาคม กำหนดจำนวนและเขตปกครองตำบล พอกำหนดเป็นหลักได้ ๒ กรณี ได้แก่
                          ๑) กำหนดโดยอนุโลมตามตำบลแห่งราชอาณาจักร
                          ๒) กำหนดเป็นกรณีพิเศษ
             ในกรณีที่ ๑ ให้อนุโลมตามเขตปกครองตำบลแห่งราชอาณาจักรได้ เฉพาะตำบลที่มีวัดถูกต้องตามกฎหมาย ๕ วัดขึ้นไปเท่านั้น และเมื่อจะกำหนดตำบลใหม่ แม้ตำบลใหม่จะมีวัด ๕ วัดขึ้นไปแล้วก็ตาม แต่ตำบลเดิมที่ตำบลใหม่เคยรวมอยู่ ซึ่งจะมีเขตเปลี่ยนแปลงจะต้องมีวัดคงอยู่ไม่ต่ำกว่า ๕ วัด ถ้าจะมีวัดคงอยู่ต่ำกว่า ๕ วัด จะแยกตำบลใหม่ โดยกำหนดอนุโลมมิได้
              ในกรณีที่ ๒ ให้กำหนดเป็นกรณีพิเศษตามจำนวนวัดแต่ละตำบล แยกเป็น ๕ ลักษณะ ได้แก่
                          ๑) ตำบลที่มีวัดต่ำกว่า ๕ วัด
                          ๒) ตำบลที่มีวัดต่ำกว่า ๕ วัด จำนวน ๓ ตำบลขึ้นไป
                          ๓) แม้ตำบลที่มีวัดครบ ๕ วัด แต่มีเหตุอื่น
                          ๔) ตำบลที่มีวัดเกินกว่า ๑๐ วัด (แยกเฉพาะวัดที่เกิน ๑๐)
                          
๕) ตำบลที่มีวัดตั้งแต่ ๑๐ วัด ขึ้นไป (แบ่งแยกออกเป็นเขต)
ลักษณะที่ ๑ แยกพิจารณาปฏิบัติได้ดังนี้
        
     (๑) ให้รวมวัดในตำบลที่มีวัดต่ำกว่า ๕ วัด ขึ้นในปกครองของเจ้าคณะตำบลอื่นซึ่งมีเขตติดต่อกัน
        
     (๒) ให้รวมเข้ากับตำบลอื่น ซึ่งเมื่อรวมแล้วมี ๑๐ วัดขึ้นไป เพื่อความสะดวกหรือเพื่อความเจริญต่อคณะสงฆ์ จะแบ่งเป็น ๒ เขตหรือหลายเขต โดยจะเรียกชื่อตำบลอนุโลมตามชื่อตำบลแห่งราชอาณาจักรหรือจะเรียกว่า "ตำบล………………….……..เขต ๑" "ตำบล………..เขต ๒" ก็ได้
ลักษณะที่ ๒             ให้รวมตำบลที่มีวัดต่ำกว่า ๕ วัด ตั้งแต่ ๓ ตำบลขึ้นไปเข้าเป็นเขตปกครองเดียวกัน เข้ารวมแล้วมีวัด ๑๐ วัดขึ้นไป จะแบ่งเป็นเขตและกำหนดชื่อตำบลดังในลักษณะที่ ๑ ก็ได้
ลักษณะที่ ๓
        
      แม้ตำบลที่มีวัดครบ ๕ วัด แต่ถ้าเข้าลักษณะพิเศษ ๒ ประการ คือ มีความเหมาะสม ๑ สะดวกในทางปกครอง๑ จะรวมขึ้นในปกครองของเจ้าคณะตำบลอื่นก็ได้
ลักษณะที่ ๔
        
     ตำบลที่มีวัดเกิน ๑๐ วัด ถ้าสะดวกในทางปกครองจะแยกวัดที่เกิน ๑๐ นั้น ไปขึ้นในปกครองของเจ้าคณะตำบลอื่นก็ได้
ลักษณะที่ ๕
             
ตำบลที่มีวัด ๑๐ วัดขึ้นไป ถ้ามีลักษณะพิเศษ ๒ ประการ คือ ๑.เพื่อสะดวกแก่การปกครอง ๒.เพื่อความเจริญแก่คณะสงฆ์ จะแบ่งเป็น ๒ เขต หรือหลายเขต เรียกชื่อตำบลว่า "ตำบล………..เขต ๑" "ตำบล…………..เขต ๒" ก็ได้ แต่เขตหนึ่ง ๆ จะต้องมีวัดไม่ต่ำกว่า ๕ วัด
             ตำบลทางคณะสงฆ์แต่ละตำบลให้มีเจ้าคณะตำบลจำนวนตำบลละ ๑ รูป ถ้าตำบลใดมี ๘ วัดขึ้นไป ให้มีรองเจ้าคณะตำบลได้ ๑ รูป
             การรวมหลายตำบลเป็นตำบลเดียว ถ้ารวม ๒ ตำบล ให้คงชื่อไว้ทั้ง ๒ ตำบล ถ้ารวม ๓ ตำบลขึ้นไป ให้คงชื่อไว้ตำบลเดียว
การกำหนดเขตตำบลดังกล่าวให้ยึดหลัก ๔ อย่าง คือ
        
     ๑. ต้องมีวัดตำบลละไม่ต่ำกว่า ๕ วัด
        
     ๒. เจ้าคณะอำเภอเป็นผู้กำหนดเขตจำนวนและชื่อตำบลเสนอ
        
     ๓. เจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้ประกาศโดยอนุมัติของเจ้าคณะภาค
        
     ๔. ให้ถือเป็นเขตปกครองเมื่อประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์แล้ว
ตัวอย่างหนังสือขอกำหนด
ที่……../……… สำนักงานเจ้าคณะอำเภอ…………
วัด…………………………
 
๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๗
เรื่อง ขอกำหนดเขตปกครองตำบล
กราบเรียน เจ้าคณะจังหวัด……………
สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาประกาศกระทรวงมหาดไทย จำนวน ๑ ฉบับ
             ด้วยอำเภอพิจารณาเห็นว่า สมควรได้มีการกำหนดเขตปกครองตำบลใหม่ ให้เป็นไปโดยความเรียบร้อยดีงาม และเหมาะสม ดังต่อไปนี้
             ๑. โดยกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศแยกหมู่บ้านบางหมู่ในเขตตำบล…..…รวมตั้งเป็นตำบลใหม่ เรียกชื่อว่า "ตำบล……………." ดังสำเนาประกาศกระทรวงมหาดไทยที่ถวายมาพร้อมนี้ โดยที่ตำบลเดิมและตำบลใหม่ มีวัดครบ ๕ วัดทุกตำบล ควรได้กำหนดเขตปกครองตำบลโดยอนุโลมตามเขตตำบลแห่งราชอาณาจักร โดยรวมวัดในเขตตำบล…... ซึ่งแต่เดิมอยู่ในเขตตำบล………… ตั้งเป็นตำบลใหม่ ซึ่งเรียกว่า "ตำบล…………." อนุโลมตามตำบลแห่งราชอาณาจักร มี ๖ วัด คือ
                     ๑) วัด……………………. ๒) วัด……………….
                     ๓) วัด……………………. ๔) วัด……………….
                     ๕) วัด……………………. ๕) วัด……………….
             อนึ่ง ตำบล……………………..ซึ่งมีเขตเปลี่ยนแปลง คงมี ๕ วัด คือ
                     ๑) วัด……………………. ๒) วัด………………
             ๒. ตำบล………….มีวัดไม่ถึง ๕ วัด เห็นควรให้รวมขึ้นในเขตปกครองของเจ้าคณะตำบล…………….. ซึ่งรวมแล้ว คงมี ๗ วัด คือ
                     ๑) วัด…………………….. ๒) วัด………………..
             ๓. ตำบล……………………กับตำบล………………..มีวัดตำบลละไม่ถึง ๕ วัด ควรรวมเข้าเป็นตำบลเดียวกัน เรียกว่า "ตำบล…………….." มี…………..วัด คือ
                     ๑) วัด…………………… ๒) วัด………………….
             ๔. ตำบล……………….…ตำบล………………..กับตำบล……….…………..มีวัดตำบลละไม่ถึง ๕ วัด เห็นควรรวมเป็นเขตปกครองเดียวกัน เรียกชื่อว่า "ตำบล……….แล้ว แบ่งเป็น……………เขต ดังนี้
                     ๑) ตำบล…………………..เขต ๑ มี……………วัด คือ
                      (ก) วัด……………. (ข) วัด…………..
                     ๒) ตำบล………………….เขต ๒ มี……………วัด คือ
                     (ก) วัด…………… (ข) วัด………………….
             ๕. ตำบล…………….มีวัดครบ ๕ วัด แต่เพื่อความเหมาะสมและสะดวกในทางปกครอง เห็นควรให้รวมขึ้นในเขตปกครองเจ้าคณะตำบล……………เมื่อรวมแล้วคงมี ๑๐ วัด คือ
                     ๑) วัด………………………. ๒) วัด………………………
             ๖. ตำบล……………..มี ๑๑ วัด เพื่อสะดวกในทางปกครอง เห็นควรให้วัด…………… ซึ่งเป็นวัดที่ ๑๑ รวมขึ้นในปกครองของเจ้าคณะตำบล………………..เมื่อรวมแล้ว คงมี……….วัด คือ
                     ๑) วัด………………. ๒) วัด…………………..
             ๗. ตำบล………………..มี ๑๐ วัด เพื่อสะดวกแก่การปกครองและเพื่อความเจริญแห่งคณะสงฆ์ ควรให้แบ่งเป็น ๒ เขต ดังนี้
                     ๑) ตำบล………….. เขต ๑ มี ๕ วัด คือ
                                  (๑) วัด………………. (๒) วัด………………
                     ๒) ตำบล…………..เขต ๒ มี ๕ วัด คือ
                                  (๑) วัด………………. (๒) วัด………………
             ฉะนั้น จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป.
กราบเรียนมาด้วยความเคารพอย่างสูง
…………………………….
(พระ……………………..)
เจ้าคณะอำเภอ……………..
หมายเหตุ.-             - แบบนี้ทำพอเป็นตัวอย่าง ตาม
             -ใน ๑) ใช้สำหรับการกำหนดโดยอนุโลมตามข้อ ๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๔ และในการกำหนดโดยอนุโลมนี้ อาจใช้เหตุผลอย่างอื่นตามลักษณะของตำบล เช่น แต่เดิมเป็น ๒ ตำบลมานานแล้ว แต่วัดไม่เพียงพอ ครั้นภายหลังมีวัดเพิ่มขึ้นควรใช้ว่า "โดยที่ตำบล…………..และตำบล………..เดิมมีวัดตำบลละ ๔ วัด บัดนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งวัดเพิ่มขึ้นตำบลละ ๑ วัด เป็นเหตุให้แต่ละตำบลมีวัดครบ ๕ วัด ควรได้กำหนดเขตปกครองตำบลใหม่โดยอนุโลมตามตำบลแห่งราชอาณาจักร คือ……………….."
             -ใน ๒) ใช้สำหรับรวมตำบลที่มีวัดต่ำกว่า ๕ วัด ขึ้นในการปกครองของเจ้าคณะตำบลอื่น (ข้อ ๔ วรรค ๑)
             -ใน ๓) ใช้สำหรับรวม ๒ ตำบลเข้าด้วยกัน (ระเบียบข้อ ๔ วรรค ๒)
             -ใน ๔) ใช้สำหรับรวม ๓ ตำบลเข้าด้วยกัน แล้วแบ่งเขต (ระเบียบข้อ ๕)
             -ใน ๕) ใช้สำหรับรวมตำบลที่มีวัดครบ ๕ วัด ขึ้นในปกครองของเจ้าคณะตำบลอื่น
             -ใน ๖) ใช้สำหรับแยกวัดที่เกิน ๑๐ ไปรวมในปกครองของเจ้าคณะตำบลอื่น
             -ใน ๗) ใช้สำหรับแยกตำบลที่มีวัด ๑๐ วัด เป็น ๒ เขต หรือหลายเขต
(ดูข้อกำหนด ต้องศึกษาว่า ลักษณะอย่างไรควรใช้วิธีใด ส่วนข้อที่ไม่ต้องการใช้ ก็ตัดออกเสีย)