การคณะสงฆ์ หรือ งานคณะสงฆ์
*******************
             คำว่า "การ" เป็นคำนาม ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า "งาน" "สิ่งหรือเรื่องที่ต้องทำ" ถ้าอยู่หน้านาม หมายถึง "เรื่อง" "ธุระ" "หน้าที่"
             ดังนั้น เมื่อรวม "การ" กับ "คณะสงฆ์" เป็น "การคณะสงฆ์" จึงหมายถึง "งานของคณะสงฆ์" "สิ่งหรือเรื่องที่คณะสงฆ์ต้องทำ" "สิ่งหรือเรื่องที่คณะสงฆ์ควรทำ" "ธุระของคณะสงฆ์" "หน้าที่ของคณะสงฆ์" โดยตรงได้แก่กิจการที่คณะสงฆ์ต้องกระทำหรือที่คณะสงฆ์ควรกระทำ กิจการที่เป็นงานของคณะสงฆ์
             กิจการที่คณะสงฆ์ ต้องถือหรือควรถือเป็นธุระหน้าที่ เพราะเป็นกิจการขององค์กรปกครองคณะสงฆ์ทุกส่วนและทุกชั้น เพราะคณะสงฆ์ต้องดำเนินกิจการคณะสงฆ์โดยแท้
ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มาตรา ๑๕ ตรี (๑) และ (๓) และข้อ ๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ.๒๕๔๑) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ กล่าวถึง "การ" ไว้โดยชัดเจนเป็น ๖ คือ
             ๑)การรักษาความเรียบร้อยดีงาม
        
     ๒)การศาสนศึกษา
        
     ๓)การศึกษาสงเคราะห์
        
     ๔)การเผยแผ่พระพุทธศาสนา
        
     ๕)การสาธารณูปการ
        
     ๖)การสาธารณสงเคราะห์
             กิจการคณะสงฆ์และกิจการพระศาสนา จะมีมากน้อยเพียงใดก็ตาม ย่อมรวมลงใน "การ" ทั้ง ๖ นี้ และการทั้ง ๖ นี้ เป็นงานในหน้าที่ขององค์กรปกครองคณะสงฆ์โดยแท้ แต่วิธีดำเนินการนั้น ให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบมหาเถรสมาคม
อนึ่ง การนิคหกรรม ตามมาตรา ๒๔-๒๕ ซึ่งแต่เดิมใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์พุทธศักราช ๒๔๘๔ เรียกว่า "การวินิจฉัยอธิกรณ์" ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม
             กล่าวโดยสรุปแล้ว "การ" ที่กล่าวมานี้ ย่อมอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาส เจ้าคณะ และ มหาเถรสมาคม ตลอดจนพระภิกษุ คณะบุคคล ที่มหาเถรสมาคมมอบให้เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ทั้งสิ้น