คนมีความอดทนคือคนมีความรัก

คนมีความอดทนคือคนมีความรัก

เรียบเรียงโดย ... พระธนกร เตชปญฺโญ
วัดหนองผักบุ้ง


คนมีความอดทนคือคนมีความรัก
ผลประจักษ์คือลาภยศสุขสันต์
ความอดทนทรงคุณค่าอนันต์
คนเห็นก็รักเทพเห็นก็คุ้มกันคนอดทน

การใช้ชีวิตของมนุษย์ จักต้องพบเจอสิ่งที่ดีและไม่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เราไม่อาจเลือกได้ เหมือนลมฟ้าอากาศ ที่ไม่รู้ว่าจะดีหรือร้าย แต่เมื่อเราพบเจอแล้ว สามารถป้องกันตัวเราเองจากสิ่งที่เข้ามากระทบเราและทำให้เราเป็นทุกข์ไปด้วยได้ เปรียบเหมือนคนที่มีร่มใหญ่ท่ามกลางสายแดด ย่อมไม่ถูกแสงแดดแผดเผาให้เร่าร้อน เช่นเดียวกับผู้ที่มีเครื่องป้องกันใจ เครื่องป้องกันใจ ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าขันตินี้ จะไม่มีความเร่าร้อนทรมานเจ็บปวด เหนื่อยและโกรธ หรือดุร้ายเพราะได้รับสิ่งที่ไม่พอใจเลย 

ขันติคือความอดทนอดกลั้น ความไม่แปรปรวนแห่งจิต ความไม่มุ่งร้าย ไม่ว่าสิ่งใดมากระทบก็ตาม ในพระไตรปิฏกแสดงความหมายของขันติว่า เป็นความใจเย็นแห่งจิต ความไม่ปองร้าย ความไม่มีจิตขุ่นเคือง ผู้ที่มีขันติประจำใจ ย่อมไม่ทุกข์ร้อนไปตามโลกธรรม แม้ว่าโลกธรรมจะทำให้แสนลำบากยากเข็นเพียงใด โลกธรรมเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ แต่ขันติช่วยทำให้ไม่หวั่นไหวไปกับความทุกข์ที่เกิดขึ้น แม้ว่า ยังไม่ได้บรรลุธรรม ยังไม่บรรลุพระนิพพาน ยังไม่ได้บรรลุพระอรหันต์ แต่คนมีขันติ ย่อมมีความสุขได้ในปัจจุบันทันที เพราะเขาจะเป็นคนจิตใจสงบ ไม่มีเรื่องราวกับใคร มีแต่คนรักใคร่ และไม่ต้องมาสะสางปัญหาที่สร้างไปเพราะใจวู่วาม จะเป็นคนที่ปรกติและมีความสุขอยู่เสมอ คนที่มีขันติธรรม เมื่อพบสุขก็เป็นสุข เมื่อพบทุกข์ก็ยังสุขได้ตลอดเวลา

จะเป็นคนมีขันติธรรมคือความอดทน การคบคนก็มีส่วนสำคัญไม่น้อย ดังภาษิตที่กล่าวไว้ในขุททกนิกาย เถรคาถาว่า 
            ปาปมิตฺเต วิวชฺเชตฺวา         ภเชยฺยุตฺตมปุคฺคเล
            โอวาเท จสฺส ติฏฺเฐยฺย       ปตฺเถนฺโต อจลํ สุขํ ฯ

เเปลว่า ผู้ปรารถนาความสุขที่มั่นคง พึงเว้นมิตรชั่วเสีย คบแต่บุคคลสูงสุด และพึงตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน ฯ 

มิตรคือคนที่สนิทชิดเชื้อ คนที่ต้องการความสุขที่มั่นคงต้องการละเว้นจากการคบมิตรชั่ว เพราะมิตรชั่วไม่อาจนับได้ว่าเป็นมิตร เป็นเพียงแค่มิตรเทียมเท่านั้น ซึ่งมีลักษณะเป็นคนมีนิสัยชอบปอกลอก ดีแต่พูด หัวประจบ และชอบชักชวนไปในทางเสียหาย เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว จึงควรหลีกหนีคนพวกนี้ไปให้ไกล เพื่อความสวัสดิภาพให้กับตัวเอง โบราณท่านกล่าวไว้ว่า ห่างไฟให้ห่างศอก ห่างวอกให้ห่างวา ห่างคนพาลาให้ห่างร้อยโยชน์พันโยชน์ หากเราทำตามคำที่ท่านกล่าวไว้ได้ ชีวิตก็จะพบความสงบสุขในโลกปัจจุบัน และโลกหน้าในสัมปรายภพ หากได้ทำตามคำของบุรุษผู้สูงสุดคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ จนบรรลุพระอรหัตตผล ย่อมได้พบกับความสุขอันยอดเยี่ยม คือพระนิพพานอย่างแน่นอน บุคคลผู้ปรารถนาความสุขอันถาวร ควรเว้นมิตรชั่ว คบหาแต่บุคคลผู้สูงสุด และควรตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน ดังคำที่กล่าวไว้ในสวดมนต์ฉบับหลวงว่า 

                สตฺถุโน วจโนวาทํ     กโรติเยว ขนฺติโก
                ปรมาย จ ปูชาย       ชินํ ปูเชติ ขนฺติโก ฯ

แปลว่า ผู้มีขันติ ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระศาสดา และผู้มีขันติชื่อว่าบูชาพระชินเจ้า ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง ฯ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้เราสาวกทั้งหลายละเว้นจากอกุศลธรรมทั้งสิ้น แต่เพราะเหตุปัจจัยทำให้เกิดอกุศลธรรมนั้นมีมากมาย มีทั้งหยาบ และละเอียด บุคคลจึงมิอาจห้ามใจให้อ่อนไหวได้ อกุศลธรรมที่เห็นเด่นชัดคือโลภะ ความละโมภโลภมาก โทสะ ความโกรธ การไม่ให้เกิดโทสะจากสิ่งยั่วยุก็สามารถทำได้ เช่น การข่มใจ มีตัวอย่างในสมัยพุทธกาล มีพระสาวกที่ท้อแท้สิ้้นหวังในชีวิต เช่น พระจูลปันถกะ ท่านเกิดความสิ้นหวัง เพราะไม่สามารถเข้าใจในพระสัจธรรมได้ จนคิดจะล้มเลิกเสีย เมื่อได้รับพรจากพระศาสดาแล้ว ท่านจึงตั้งใจและอดทนเรียนรู้คำสอน จนเข้าถึงรสพระธรรมในที่สุด ความอดทนอดกลั้นที่มีความรู้เท่าทัน ความยินดียินร้ายก็เข้าครอบงำไม่ได้ เท่ากับเป็นการขุดรากถอนโคนของบาปธรรมทั้งหมด การติฉินนินทาทะเลาะเบาะแว้งวิวาทกันเป็นต้น หากใช้ขันติธรรมข่มใจไว้ สามารถตัดรากถอนโคนแห่งอกุศลจิตเสีย โลภะก็ไม่เกิด โทสะก็ไม่เกิด และอกุศลธรรมอื่นๆก็ไม่เกิด หากปฏิบัติได้ดังนี้ ชื่อว่าทำตามสอนของพระชินสีห์อนุตตระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่แท้

ดังนั้น คนที่มีขันติธรรมประจำใจ จะทำการใดๆ ก็อดทนทำไปด้วยความเข้มเเข็ง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหา ถึงแม้มีคนมาคิดปองร้ายหมายเวรทำให้เกิดทุกข์ด้วยประการต่างๆ มีความยับยั้งชั่งใจ ไม่คิดหาทางทำร้ายตอบกลับ ไม่อาฆาตบาดหมางอันจะเป็นการก่อเวรภัยต่อกันไม่มีวันสิ้นสุด เมื่อหยุดใจไว้ได้ เวรภัยทั้งหลายก็สงบลง ความอดทนคือความรักความเมตตาอย่างหนึ่ง  ผลอันเกิดจากความอดทนที่เห็นได้อย่างประจักษ์ชัดแจ้งคือลาภ ยศ ความสุขสันต์ ความอดทนนี้จึงมีคุณค่าอนันต์ คนอดทนนี้ ใครเห็นใครก็รัก เทวดาก็คุ้มครอง ประสบพอเจอแต่ความสุขความเจริญตลอดกาล ฯ

วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ


วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
ความหมาย 
เนื่องด้วยอัฏฐมีคือวันแรม ๘ ค่ำ แห่งเดือนวิสาขะ (เดือน ๖) เป็นวันที่ถือกันว่าตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เมื่อถึงวันนี้แล้ว พุทธศาสนิกชนบางส่วน ผู้มีความเคารพกล้าในพระพุทธองค์ มักนิยมประกอบพิธีบูชา ณ ปูชนียสถานนั้น ๆ วันนี้จึงเรียกว่า "วันอัฏฐมีบูชา"


ประวัติความเป็นมา

   เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ๘ วัน มัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์อันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีแห่งกรุงกุสินารา วันนั้นเป็นวันหนึ่งที่ชาวพุทธต้องมีความสังเวชสลดใจ และวิปโยคโศกเศร้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะการสูญเสียแห่งพระพุทธสรีระ เมื่อวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งนิยมเรียกกันว่าวันอัฏฐมีนั้นเวียนมาบรรจบแต่ละปี พุทธศาสนิกชนบางส่วน โดยเฉพาะพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาแห่งวัดนั้น ๆ ได้พร้อมกันประกอบพิธีบูชาขึ้น เป็นการเฉพาะภายในวัด เช่นที่ปฏิบัติกันอยู่ในวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ เป็นต้น แต่จะปฏิบัติกันมาแต่เมื่อใด ไม่พบหลักฐาน ปัจจุบันนี้ก็ยังถือปฏิบัติกันอยู่ 


ความสำคัญ 
   โดยที่วันอัฏฐมีคือวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ถือเป็นวันที่ตรงกับวันที่ตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเป็นวันที่ชาวพุทธต้องวิปโยค และสูญเสียพระบรมสรีระแห่งองค์พระบรมศาสดา ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงยิ่ง และเป็นวันควรแสดงธรรมสังเวชและระลึกถึงพระพุทธคุณให้สำเร็จเป็นพุทธานุสสติภาวนามัยกุศล


พิธีอัฏฐมีบูชา 
   การประกอบพิธีอัฏฐมีบูชานั้น นิยมทำกันในตอนค่ำและปฏิบัติอย่างเดียวกันกับประกอบพิธีวิสาขบูชา ต่างแต่คำบูชาเท่านั้น 


คำถวายดอกไม้ธูปเทียนในวันอัฏฐมีบูชา

ยะมัมหะ โข มะยัง, ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา, โย โน ภะคะวา สัตถา, ยัสสะ จะ มะยัง, ภะคะวะโต ธัมมัง โรเจมะ, อะโหสิ โข โส ภะคะวา, มัชฌิเมสุ ชะนะปะเทสุ, อะริยะเกสุ มะนุสเสสุ อุปปันโน, ขัตติโย ชาติยา, โคตะโม โคตเตนะ, สักยะปุตโต สักยะกุลา ปัพพะชิโต, สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก, สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ, อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ, นิสสังสะยัง โข โส ภะคะวา, อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, วิชชาจะระณะสัมปันโน, สุคะโต โลกะวิทู, อนุตตะโร ปุริสทัมมะสาระถิ, สัตถา เทวะมะนุสสานัง, พุทโธ ภะคะวา สวากขาโต โข ปะนะ, เตนะ ภะคะวา ธัมโม, สันทิฏฐิโก, อะกาลิโก, เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ. สุปะฏิปันโน โข ปะนัสสะ, ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ, อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา, เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อาหุเนยโย, ปาหุเนยโย, ทักขิเนยโย อัญชลีกะระณีโย. อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ. อะยัง โข ปะนะ ถูโป(ปฏิมา) ตัง ภะคะวันตัง อุททิสสะ กโต (อุททิสสิ กตา) ยาวะเทวะ ทัสสะเนนะ, ตัง ภะคะวันตัง อะนุสสะริตวา, ปะสาทะสังเวคะปะฏิลาภายะ, มะยัง โข เอตะระหิ, อิมัง วิสาขะปุณณะมิโตปะรัง อัฏฐะมีกาลัง, ตัสสะ ภะคะวะโต สรีรัชฌาปะนะกาละสัมมะตัง ปัตวา, อิมัง ฐานัง สัมปัตตา, อิเม ทัณฑะทีปะธูปะ-, ปุปผาทิสักกาเร คะเหตวา, อัตตะโน กายัง สักการุปะธานัง กะริตวา, ตัสสะ ภะคะวะโต ยะถาภุจเจ คุเณ อะนุสสะรันตา, อิมัง ถูปัง(ปะฏิมาฆะรัง) ติกขัตตุง ปะทักขิณัง กะริสสามะ, ยะถาคะหิเตหิ สักกาเรหิ ปูชัง กุรุมานา. 


สาธุ โน ภันเต ภะคะวา, สุจิระปะรินิพพุโตปิ, ญาตัพเพหิ คุเณหิ, อะตีตารัมมะณะตายะ ปัญญายะมาโน, อิเม อัมเหหิ คะหิเต, สักกาเร ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ฑีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ.
อำนาจหน้าที่ในองค์กรปกครองคณะสงฆ์
*******************
             ในองค์กรปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ผู้บัญชาการเป็นต้นไว้โดยชัดเจน ดังนี้
             ๑. อำนาจหน้าที่ผู้บัญชาการ
สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีอำนาจหน้าที่บัญชาการคณะสงฆ์ทางมหาเถรสมาคม ตามอำนาจแห่งกฎหมายและพระธรรมวินัย ทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม
             ๒. อำนาจหน้าที่มหาเถรสมาคม
มหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุด มีอำนาจหน้าที่ตามความในมาตรา ๑๕ ตรี ดังนี้
"มาตรา ๑๕ ตรี มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
             (๑) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม
             (๒) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร
             (๓) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ ของคณะสงฆ์
             (๔) รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
             (๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือ กฎหมายอื่น
เพื่อการนี้ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติหรือออกประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัย ใช้บังคับได้ และจะมอบให้พระภิกษุรูปใด หรือคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๑๙ เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งก็ได้"
             ๓. อำนาจหน้าที่เจ้าคณะ
             อำนาจหน้าที่เจ้าคณะทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค คือ เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล ได้กำหนดไว้ในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ.๒๕๔๑) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ ข้อ ๗, ๑๐, ๑๕, ๒๐ และ ๒๕ ตามลำดับ ทุกข้อเหมือนกันเกือบทั้งหมด จึงขอยกมาเฉพาะข้อ ๑๕ ดังนี้
             "ข้อ ๑๕ เจ้าคณะจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในเขตจังหวัดของตน ดังนี้
             (๑) ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช คำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตน
             (๒) ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงาม การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ ให้ดำเนินไปด้วยดี
             (๓) ระงับอธิกรณ์ วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยชั้นเจ้าคณะอำเภอ
             (๔) แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าคณะอำเภอให้เป็นไปโดยชอบ
             (๕) ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าคณะและเจ้าอาวาส ตลอดถึงพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชา หรืออยู่ในเขตปกครองของตน และชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชา ให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย
             (๖) ตรวจการและประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองของตน"
             อำนาจหน้าที่ตามข้อ ๑๕ เป็นอำนาจหน้าที่โดยภาพรวม ส่วนอำนาจหน้าที่โดยส่วนย่อย ยังมีในบทบัญญัติอื่น ๆ อีก ส่วนรองเจ้าคณะชั้นต่าง ๆ มีอำนาจหน้าที่ตามที่เจ้าคณะมอบหมาย เพราะมีฐานะเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะในชั้นนั้น ๆ
             ๔. หน้าที่และอำนาจเจ้าอาวาสและผู้รักษาการแทน
             
โดยที่วัดเป็นสถาบันหลักในการปกครองและการดำเนินกิจการคณะสงฆ์และพระศาสนา ที่สำคัญสุด กฎหมายคณะสงฆ์บัญญัติให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล และให้เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนวัดในกิจการทั่วไป ให้เจ้าอาวาสเป็นผู้ปกครองวัด เจ้าอาวาสนั้น มีฐานะเป็นผู้ ปกครองวัดและมีฐานะเป็นผู้แทนวัด ทั้งมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เจ้าอาวาสจึงเป็นผู้มีความสำคัญ ต่อความเสื่อมความเจริญของคณะสงฆ์และพระศาสนา แม้ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ก็มีฐานะอย่างเดียวกับเจ้าอาวาส เพราะความสำคัญดังกล่าว จึงบัญญัติหน้าที่และอำนาจเจ้าอาวาสไว้โดยชัดเจนในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์มาตรา ๓๗ และ ๓๘ ดังนี้
             "มาตรา ๓๗ เจ้าอาวาสมีหน้าที่ ดังนี้
             (๑) บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี
             (๒) ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่ หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้น ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือ คำสั่งของมหาเถรสมาคม
             (๓)เป็นธุระในการศึกษาอบรมและสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์
             (๔) ให้ความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล"
             "มาตรา ๓๘ เจ้าอาวาสมีอำนาจ ดังนี้
             (๑) ห้ามบรรพชิตและคฤหัสถ์ ซึ่งมิได้รับอนุญาตของเจ้าอาวาสเข้าไปอยู่อาศัยในวัด
             (๒) สั่งให้บรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ซึ่งไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสออกไปเสียจากวัด
             (๓) สั่งให้บรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยในวัด ทำงานภายในวัด หรือให้ทำทัณฑ์บนหรือให้ขอขมาโทษ ในเมื่อบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ในวัดนั้น ประพฤติผิดคำสั่งเจ้าอาวาสซึ่งได้สั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม"
             อนึ่ง เพราะวัดจะต้องมีเจ้าอาวาสหรือผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ซึ่งอาจปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ว่างเว้นเลย จึงมีบทบัญญัติโดยชัดเจนในมาตรา ๓๙ ดังนี้
             "มาตรา ๓๙ ในกรณีที่ไม่มีเจ้าอาวาสหรือเจ้าอาวาสไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส มีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าอาวาส
             การแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม"
หน้าที่และอำนาจตามมาตรา ๓๗ และ ๓๘ เป็นหน้าที่และอำนาจโดยภาพรวม ส่วนอำนาจและหน้าที่โดยส่วนย่อย ยังมีในบทบัญญัติอื่น ๆ อีก
             ส่วนรองเจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาส เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส มีอำนาจหน้าที่ตามที่เจ้าอาวาสมอบหมาย

การคณะสงฆ์ หรือ งานคณะสงฆ์
*******************
             คำว่า "การ" เป็นคำนาม ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า "งาน" "สิ่งหรือเรื่องที่ต้องทำ" ถ้าอยู่หน้านาม หมายถึง "เรื่อง" "ธุระ" "หน้าที่"
             ดังนั้น เมื่อรวม "การ" กับ "คณะสงฆ์" เป็น "การคณะสงฆ์" จึงหมายถึง "งานของคณะสงฆ์" "สิ่งหรือเรื่องที่คณะสงฆ์ต้องทำ" "สิ่งหรือเรื่องที่คณะสงฆ์ควรทำ" "ธุระของคณะสงฆ์" "หน้าที่ของคณะสงฆ์" โดยตรงได้แก่กิจการที่คณะสงฆ์ต้องกระทำหรือที่คณะสงฆ์ควรกระทำ กิจการที่เป็นงานของคณะสงฆ์
             กิจการที่คณะสงฆ์ ต้องถือหรือควรถือเป็นธุระหน้าที่ เพราะเป็นกิจการขององค์กรปกครองคณะสงฆ์ทุกส่วนและทุกชั้น เพราะคณะสงฆ์ต้องดำเนินกิจการคณะสงฆ์โดยแท้
ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มาตรา ๑๕ ตรี (๑) และ (๓) และข้อ ๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ.๒๕๔๑) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ กล่าวถึง "การ" ไว้โดยชัดเจนเป็น ๖ คือ
             ๑)การรักษาความเรียบร้อยดีงาม
        
     ๒)การศาสนศึกษา
        
     ๓)การศึกษาสงเคราะห์
        
     ๔)การเผยแผ่พระพุทธศาสนา
        
     ๕)การสาธารณูปการ
        
     ๖)การสาธารณสงเคราะห์
             กิจการคณะสงฆ์และกิจการพระศาสนา จะมีมากน้อยเพียงใดก็ตาม ย่อมรวมลงใน "การ" ทั้ง ๖ นี้ และการทั้ง ๖ นี้ เป็นงานในหน้าที่ขององค์กรปกครองคณะสงฆ์โดยแท้ แต่วิธีดำเนินการนั้น ให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบมหาเถรสมาคม
อนึ่ง การนิคหกรรม ตามมาตรา ๒๔-๒๕ ซึ่งแต่เดิมใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์พุทธศักราช ๒๔๘๔ เรียกว่า "การวินิจฉัยอธิกรณ์" ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม
             กล่าวโดยสรุปแล้ว "การ" ที่กล่าวมานี้ ย่อมอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาส เจ้าคณะ และ มหาเถรสมาคม ตลอดจนพระภิกษุ คณะบุคคล ที่มหาเถรสมาคมมอบให้เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ทั้งสิ้น